อาหารพื้นเมือง

“ผำ”..คุณเคยทานกันไหม?

ผำ“ผำ” มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป อาทิเช่น ไข่ผำ (ทางภาคอีสาน), ไข่แหน, ผำ (ทางภาคเหนือ), ไข่น้ำ (ทางภาคกลาง)
“ผำ” เป็นพืชน้ำคล้ายๆ แหนต้นเล็กๆ หรือเรียกว่า “ไข่แหน” รูปร่างเป็นเม็ดกลมๆ มีสีเขียวลอยอยู่บริเวณผิวน้ำเป็นแพ มักเกิดในธรรมชาติที่น้ำใส นิ่ง เช่น บึง หนองน้ำ เป็นต้น ผำจะพบมากในฤดูฝน เป็นพืชดอกที่มีต้นเล็กที่สุดในโลก ทางภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง จะพบวางขายกันมากมาย นำไปทำอาหารได้หลายอย่าง ผำ เป็นพืชดอกที่มีต้นเล็กที่สุด หรือเป็นผักที่ต้นเล็กที่สุด

ประโยชน์ของผำ

มีแคลเซียมและเบต้าแคโรทีนสูงมาก คนในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย นิยมนำมาประกอบเป็นอาหาร (ผำหรือไข่แหนมีสารพิษต้านฤทธิ์สารอาหาร จึงต้องนำผำหรือไข่แหนมาทำให้สุกก่อนรับประทาน)

ผำมีรสมัน ผำ 100 กรัม ให้พลังงาน ต่อร่างกาย 8 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยเส้นใย 0.3 กรัม แคลาเซียม 59 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม เหล็ก 6.6 มิลลิกรัม วิตามินเอ 5346 IU วิตามินบีหนึ่ง 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.09 มิลลิกรัม ไนอาซิน 0.4 มิลลิกรัม วิตามินซี 11 มิลลิกรัม

วิธีการนำเอา “ผำ” มาทำอาหาร เมนูวันนี้เสนอ “คั่วผำ” … ออกสำเนียงเหนือด้วยเน้อเวลาอ่าน เรามาเริ่มกันเลยนะ ก่อนอื่นต้องนำ “ผำ” ไปล้างน้ำก่อน ซัก 2-3 น้ำ เอาพวกใบไม้ หรืออะไรที่ปนมากับผำเอาออกให้หมด (”ผำ” จะเป็นเม็ดเล็กๆ สีเขียวเวลาเราจับดูจะรู้สึกนุ่ม เม็ดกลมๆ เล็กๆ)

สิ่งที่ต้องเตรียมง่ายมาก คือ ใบมะกรูดหั่นเป็นฝอย, กระเทียมสับ, ซีอิ๊วขาว, พริกแกง หากไม่มีก็ใช้พริกหนุ่มได้ ซัก 2-3 เม็ดพอ หรือใครชอบเผ็ดก็เพิ่มเองตามใจเธอ

ขั้นตอนการทำ

– ตั้งกะทะ เติมน้ำมันไปเล็กน้อย ตามด้วยกระเทียมสับ ผัดให้กลิ่มหอมของกระเทียมออก

– ใส่พริกแกงประมาณ ครึ่งช้อนโต๊ะ หรือมากกว่าหากชอบเผ็ด (กรณี ไม่มีพริกแกง ใช้พริกหนุ่มซอยเป็นชิ้นเล็กๆ แทน) นำไปผัด คลุกกับกระเทียมที่ลงไปก่อนหน้า

– ใส่ “ผำ” ที่ล้างแล้วลงไป ผัดให้เข้าเนื้อกัน ดูให้น้ำในกะทะแห้ง แต่ไม่ถึงกับแห้งขอดนะ

– ใส่ใบมะกรูดที่หั่นแล้ว และปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว อาจจะตามด้วยรสดี หรือพวกผงโรยฟ้า ชิมดูว่าจืด เค็ม ไปไหมก็ปรุงตามใจเธอนะ ฮาๆ

– รสชาติพอใจก็ยกลงเตา รับประทานได้

คั่วผำ

เที่ยวเชียงราย

แนะนำที่เที่ยวเชียงราย - ทริปเที่ยวในเชียงราย และที่พักในเชียงราย by เชียงรายฮอลิเดย์ ChiangraiHoliday.com